ผู้รับผิดชอบ : ธนากร บุญหรั่ง
ผู้ร่วมงาน : -
ประเภท : วิทยานิพนธ์
ปีที่เผยแพร่ 2567
เอกสารประกอบ : ดูเอกสาร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์พารามิเตอร์ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการต้านทานการเจาะทะลุของกระสุนลงบนแผ่นเกราะกันกระสุน และวิเคราะห์รูปแบบความเสียหายของแผ่นเกราะเซรามิกส์ร่วมกับแผ่นเกราะโลหะตามมาตรฐาน NIJ ระดับ 3 ด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ แผ่นเกราะสองแผ่นทำด้วยวัสดุสองชนิดได้รับการออกแบบและวิเคราะห์ กำหนดให้แผ่นแรกหรือแผ่นด้านหน้าที่กระสุนวิ่งเข้าปะทะทำด้วยวัสดุอลูมินาที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95 และแผ่นที่สองคือวัสดุอลูมิเนียม 7075 T6 ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม ANSYS Explicit/Dynamic โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือความหนาของแผ่นเกราะ 6, 8 และ 10 มิลลิเมตร เนื่องจากวัสดุอลูมินาร้อยละ 95 ถูกจัดประเภทเป็นวัสดุแข็งและเปราะ ดังนั้นในกระบวนการวิเคราะห์จึงเลือกใช้ทฤษฎีความเสียหายของ Johnson-Holmquist (JH-2) สำหรับกระสุนทำมาจากทังสเตนคาร์ไบด์ที่มีขนาด 7.62x51 มิลลิเมตร ถูกนำมาใช้ในการจำลองด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ภายใต้รูปแบบความเสียหายของ Johnson-Holmquist Failure Model สำหรับวัสดุอลูมิเนียม 7075 T6 ถูกกำหนดให้ใช้แบบจำลองความเสียหาย Steinberg-Guinan Strength Model และการวิเคราะห์ภายใต้สภาวะของการเปลี่ยนรูปขนาดใหญ่ (Large deformation) อัตราความเครียดสูง (High Strain rate) และภายใต้อุณหภูมิสูง (High Temperature) จึงใช้แบบจำลองความเค้น Johnson-Cook เพื่อทำนายผลวิเคราะห์ที่ความเร็วในการยิงกระสุน 850 เมตรต่อวินาที ตามมาตรฐาน NIJ 3 จากการวิเคราะห์พบว่าเกราะไม่สามารถต้านทานการเจาะเกราะของกระสุนได้ แต่อาจทำให้ความเร็วของกระสุนลดลงอย่างมาก และเมื่อนำแผ่นเกราะอลูมินาและแผ่นเกราะอลูมิเนียมมาซ้อนทับกันที่ความหนาแผ่นละ 6 มิลลิเมตร พบว่าแผ่นเกราะอลูมินาสามารถทำลายหัวกระสุนได้และแผ่นอลูมิเนียมจะทำหน้าที่ในการดูดซับพลังงานและหยุดการเคลื่อนที่ของกระสุนไม่ให้ผ่านแผ่นเกราะไปได้ อีกทั้งรูปแบบความเสียหายด้วยวีธีการทดลองกับวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์มีความสอดคล้องกัน จึงได้โมเดลไฟไนต์เอลิเมนต์เพื่อใช้ในการพัฒนาแผ่นเกราะเซรามิกส์ร่วมกับแผ่นเกราะโลหะต่อไป